เป็นอาการปวดท้องน้อยในระหว่างเริ่มมีประจำเดือนถึง 8-48 ชั่วโมง เนื่องจากร่างกายมีการหลั่งสาร prostaglandin ออกมา ทำให้มีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมดลูกมีการหดเกร็งร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยหลัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลว ปวดศีรษะ ง่วงนอน คล้ายจะเป็นลมความสนใจต่อสิ่งต่างๆ ลดลง
จะเริ่มมีอาการก่อนมีระจำเดือนไม่ กี่ชั่วโมง และเป็นอยู่ตลอดช่วง 2-3 วันแรกของประจำเดือน โดยมีอาการปวดบิดเป็นพักๆ ที่บริเวณท้องน้อย บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ใจคอหงุดหงิดร่วมด้วย ถ้าปวดรุนแรงอาจมี อาการเหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็นได้
* ระยะก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน หรือระยะกำลังมีประจำเดือนมา แล้วมีอาการปวดท้องน้อย หรือปวดบริเวณเอวหรือหลัง หรือบั้นท้าย อาการจะปวดอยู่ 1-2 วัน แล้วหายไป เรียกว่าปวดประจำเดือน
* อาการปวดประจำเดือนที่ไม่อันตราย และหายเองได้ คือต้องไม่รบกวนชีวิตประจำวันหรือการงาน การเรียน ยังคงไปไหนมาไหนได้ ทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ ไม่ต้องลางานหรือพักผ่อนอยู่ที่บ้าน อย่างมากที่สุดก็ทานยาแก้ปวดประจำเดือนเช่น ยาแก้ปวดพาราเซทตามอล แอสไพริน พอนสเตน หรือยาแก้ปวดที่เป็นยารักษาอักเสบ แบบไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นต้น อาการปวดท้องควรจะต้องดีขึ้น หรือ ทุเลาหรือหายได้
บางรายงานการศึกษาเชื่อว่า สตรีวัยรุ่นจะไม่สุขสบาย ทุกข์ทรมานกับอาการ ปวดประจำเดือนมากกว่ากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน แต่สตรีวัยผู้ใหญ่ หรือวัยใกล้หมดประจำเดือนจะไม่สุขสบาย ทุกข์ทรมานกับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนมากกว่าวัยรุ่นสตรีที่มีอาการก่อนมีประจำเดือน
การปวดประจำเดือนส่วนใหญ่จะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติของสตรีวัยเจริญพันธุ์ ไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาสุขภาพของสตรี และไม่แสวงหาการตรวจรักษาเพียงแต่ใช้วิธีในการบรรเทาอาการไปในแต่ละเดือน เช่น การนอนพักผ่อน การรับประทานยาแก้ปวด การประคบร้อน มักจะปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานเกือบ 10 ปี หรือมากกว่าจึงไปรับการตรวจรักษา ซึ่งปัจจุบันมีแนวทางในการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน โดยการใช้ยาต่างๆ และสารอาหารที่มีแคลเซียม แมกนีเซียม วิตามินบี ในการรักษา
การบรรเทาปวดประจำเดือนด้วยวิตามิน
(โดยข้อมูลจากหนังสือ คู่มือปวดประจำเดือน รักษาตนเองด้วยธรรมชาติบำบัด)
จะทำได้โดยการปรับสมดุลในร่างกายเพื่อรักษาอาการปวดประจำเดือน นอกจากจะอาศัยการปรับอาหาร การออกกำลังกาย การคลายเครียด และวารีบำบัดแล้ว การใช้วิตามินหรืออาหารเสริมก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้อาการผิดปกติของประจำเดือนทุเลาขึ้น กระทั่งหายไปเลยก็ได้ สำหรับวิตามินที่ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนมีดังต่อไปนี้
แคลเซียม
อย่างที่เรารู้กันว่าขณะที่เริ่มมีประจำเดือน ระดับแคลเซียมในร่างกายของคนเราจะลดลง เมื่อแคลเซียมมน้อย การบีบตัวของมดลูกก็จะรุนแรง ส่งผลให้ปวดท้องน้อย ดังนั้นใครก็ตามที่มีประจำเดือนมากและปวดท้องรุนแรงในวันแรก ๆ ควรกินแคลเซียมในช่วงก่อนที่จะมีประจำเดือน โดยกินประมาณวันละ 1 – 2 กรัม พอประจำเดือนหมดก็เลิกกิน
วิตามินบี 6
วิตามินบี 6 เป็นวิตามินที่มีบทบาทลดความเคร่งเครียดของร่างกายในระหว่างมีประจำเดือน รวมทั้งลดการเกิดสิวที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนด้วย หากใครรรู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนขี้หงุดหงิด และมีสิวขึ้นมากในช่วงวันนั้นของเดือน แนะนำให้หาวิตามินบี 6 มากิน โดยกินครั้งละ 1 เม็ด ( 100 มก. ) วันละ 3 – 4 ครั้ง หากมีอาการมากก็เพิ่มปริมาณการกินเข้าไป เป็นครั้งละ 2 เม็ด แต่หากมีอาการน้อยก็กินน้อยหน่อย ทำอย่างนี้สัก 1 สัปดาห์ในช่วงที่มีประจำเดือน แล้วค่อยลดลงเป็นวันละ 2 ครั้งก็พอ หากอาการดีขึ้นหรือหายขาดก็สามารถเลิกกินได้
วิตามินบีรวม
วิตามินบีรวม เหมาะสำหรับคนขี้หงุดหงิดอีด เพราะวิตามินบีจะช่วยเรื่องการทำงานของเซลล์สมอง ไม่ให้เครียดเกินไปในขณะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังมีประจำเดือน
ดังนั้น ใครที่ทำงานเคร่งเครียดเป็นประจำและรู้ตัวว่าเมื่อใดที่มีประจำเดือนแล้วความเครียดของตัวเองจะกำเริบ ควรกินวิตามินบีรวม แต่วิธีการกินอย่างไรนั้นให้ดูที่ข้างขวดว่าให้กินอย่างไร
ระยะเวลาการกินวิตามินบีรวมนั้น ให้กินเฉพาะก่อนมีประจำเดือน และเลิกใช้เมื่อประจำเดือนหมดก็ได้
วิตามินซีที่มีไบโอฟลาโวนอยด์
วิตามินซี จะช่วยการทำงานของต่อมหมวกไต ทำให้ร่างกายสามารถรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น ช่วยทำให้ต่อมหมวกไตหลั่งอะดรีนาลินออกมาเป็นปริมาณสมดุล ทำให้ไม่เครียดเวลามีประจำเดือน แต่วิตามินซีที่จะใช้ให้ได้ผลจำเป็นต้องเป็นวิตามินซีที่มีไบโอฟลาโวนอยด์ (bioflavonoids) อยู่ด้วย หากมีแต่กรดแอสคอร์บิกอย่างเดียวแบบที่ขายตามท้องตลาดทั่วไปจะไม่ได้ผล ดังนั้นเวลาซื้อให้สังเกตุดูว่ามีส่วนประกอบของ ไบโอฟลาโวนอยด์หรือไม่
ปริมาณการกินที่เหมาะสมแนะนำให้กินแบบ 1 กรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารและเที่ยง เพื่อที่ร่างกายจะได้มีวิตามินซีและไบโอฟลาโวนอยด์ใช้ในเวลากลางวันที่เราต้องอยู่กับความเครียด สำหรับการกินวิตามินซี ให้กินเฉพาะเวลาก่อนจะมีประจำเดือน และเลิกกินเมื่อประจำเดือนหมดก็ได้
อย่างไรก็ตาม อาการปวดประจำเดือนจะหายได้เพราะการปรับอาหารและเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นหลัก แต่การใช้วิตามินนั้นก็เพื่อเสริม ให้อาการทุเลาได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น หากใช้แต่วิตามินแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจเรื่องอาหารการกิน หรือออกกำลังกายเลย ก็คงจะไม่เกิดผลดีขึ้นเลย ฉะนั้นควรปรับวิถีการกินอาหารและการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยค่ะ