ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สำคัญยามคับขันเช่นนี้ คือ การปรุงอาหาร เพราะหากเราประกอบอาหารไม่สะอาดจะยิ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายทำให้เจ็บป่วยได้ ดังนั้นใครที่ต้องการจะไปตั้งศูนย์ปรุงประกอบอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือปรุงอาหารรับประทานเองเคล็ดลับสุขภาพดีวันนี้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการปรุงอาหารให้สะอาดถูกหลักอนามัยเพื่อป้องกันโรคมาฝากกันค่ะ
ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย ให้ความรู้ว่า การประกอบอาหารในจุดที่ให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมจะต้องเน้นที่ความสะอาดปลอดภัย ซึ่งทางกรมอนามัยได้มอบให้ศูนย์อนามัยเขตในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ให้การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและคำแนะนำที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหาร และหลักโภชนาการเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือประชาชนที่รับผิดชอบจัดเตรียมและปรุงอาหารในพื้นที่ได้อย่างสะอาด ปลอดภัย และได้คุณค่าทางโภชนาการ โดยยึดตามเกณฑ์ที่กรมอนามัยกำหนดตั้งแต่อาหารสดต้องไม่มีกลิ่น อาหารแห้งต้องไม่มีเชื้อราและไม่นำอาหารกระป๋องที่บุบ บวม หมดอายุมาปรุงอาหาร
สำหรับพื้นที่ที่เราจะเลือกประกอบอาหารนั้นต้องเป็นพื้นที่หรือสถานที่ทำครัวที่ให้ไกลห้องส้วม และที่เก็บขยะ ที่ระบายน้ำเสียหรือที่เก็บสารเคมี โดยหลีกเลี่ยงการเตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้น ควรมีโต๊ะเตรียมปรุงอาหารที่สูงจากพื้นป้องกันการปนเปื้อน ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหาร เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเขียงควรแยกเขียงหั่นเนื้อ หั่นผักและอาหารปรุงสุก โดยเฉพาะเขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์ต้องล้างขจัดคราบไขมันด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และห้ามนำผ้าที่สกปรกมาเช็ด เพราะจะเป็นสื่อที่นำเชื้อโรคมาปนเปื้อนอาหารที่มีการหั่น สับ บนเขียงได้
“ก่อนปรุงอาหารควรมีการล้างวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงทุกครั้ง โดยเฉพาะผักซึ่งอาจมีการปนเปื้อนคราบดินที่เกิดจากน้ำท่วมต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ส่วนผักบางอย่าง เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปให้ล้างน้ำหลาย ๆ ครั้งหรือแช่น้ำปูนใสนาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดก่อนจะนำไปปรุงประกอบอาหาร ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารต้องปฏิบัติตนเองให้ถูกสุขลักษณะด้วย เช่น ล้างมือก่อนปรุงอาหาร ไม่ใช้มือจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรง ถ้ามือมีแผลต้องปิดแผลให้มิดชิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอาหารโดยตรง”
ส่วนการบรรจุอาหารที่ปรุงสุกแล้วเพื่อส่งต่อให้ผู้ประสบภัยรับประทานนั้นควรใส่ในภาชนะที่สะอาด ไม่ควรทิ้งระยะนานเกิน 2-4 ชั่วโมง หลังปรุงและบรรจุอาหาร ควรระบุวันและเวลาในการรับประทานให้ชัดเจนก่อนส่งให้กับผู้ประสบภัย เพราะหากเก็บนานเกินไปอาจทำให้อาหารบูดและเสียได้ โดยอาหารที่ปรุงควรเป็นอาหารประเภททอดหรือผัดเพราะไม่บูดและเสียง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ลาบ ยำ พล่าต่าง ๆ
นอกจากนี้การกำจัดขยะในจุดปรุงอาหารจะต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารทำด้วยวัสดุไม่รั่วซึม เช่น พลาสติก หากใช้ปี๊บควรมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง ถังขยะต้องมีฝาปิดและมีการแยกขยะเป็นสองถังคือ ถังขยะเปียกและถังขยะแห้งเพื่อง่ายต่อการกำจัด ทั้งนี้สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การใช้ส้วมเนื่องจากประชาชนที่อาศัยในศูนย์พักพิงมีจำนวนมาก ผู้ใช้จึงต้องให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะอย่างถูกต้อง โดยไม่ทิ้งวัสดุอื่นนอกจากกระดาษชำระลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม เพื่อสุขอนามัยที่ดีและป้องกันโรคในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ อุจจาระร่วง บิด เป็นต้น
เมื่อทราบแบบนี้แล้ว อย่าลืมดูแลเรื่องความสะอาดในการปรุงอาหารที่เราจะรับประทานหรืออาหารที่ปรุงให้แก่ผู้ประสบภัยให้มีความปลอดภัยด้วยนะคะ เพราะจะได้ไม่เป็นการซ้ำเติมสุขภาพของตัวเองและผู้ประสบอุทกภัยนั่นเอง.
credit: http://www.green.in.th/