Wednesday, September 19, 2012

อาหารบำรุงกระดูก

อาหารบำรุงกระดูก
(Nourish Your Bones) 

กระดูกเป็นโครงสร้างของร่างกายทำหน้าที่พยุงร่างกายให้ทรงตัวอยู่ได้และเป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อ กระดูกเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะประกอบด้วย น้ำประมาณร้อยละ 20 สารอินทรีย์ร้อยละ 30-40 ที่สำคัญคือ โปรตีน ที่เหลืออีกร้อยละ 40-50 เป็นแร่ธาตุต่างๆ แร่ธาตุที่สำคัญที่เป็นองค์ประกอบของกระดูก คือ แคลเซียมฟอสฟอรัส แมกนีเซียม แมงกานีส

ดังนั้นการกินอาหารบำรุงกระดูกจะต้องกินอาหารที่มีแร่ธาตุอย่างสมดุลกัน การกินอย่างใด อย่างหนึ่งมากเกินไปก็จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน มาดูกันค่ะว่าสารอาหารอะไรที่สำคัญต่อกระดูกและอยู่ในอาหารประเภทไหนกันบ้าง


แคลเซียม (Calcium)
ทำให้กระดูกแข็งแรง พบใน นมสด ปลาป่น กุ้งแห้ง งาดำ ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ผักใบเขียว ฟอสฟอรัส ทำให้กระดูกแข็งแรง พบใน เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดฟักทอง สถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกา (National Institute Health) แนะนำปริมาณของ แคลเซียม ที่เหมาะสมในแต่ละวัย ดังนี้

ปริมาณ แคลเซียม ที่ควรได้รับต่อวัน

เด็ก (1-10 ปี) ควรได้รับ 800 – 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
วัยรุ่น (11-25 ปี) ควรได้รับ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
ผู้ใหญ่ ควรได้รับ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน
หญิงมีครรภ์ ควรได้รับ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน
หญิงให้นมบุตร ควรได้รับ 1,500 – 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
ผู้ป่วยกระดูกหัก ควรได้รับ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน

แมกนีเซียม (Magnesium)
แมกนีเซียม เป็นสารอาหารประเภทเกลือแร่ (Mineral) ชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มเกลือแร่ที่มีมากในร่างกาย ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะในโครงสร้างกระดูกมีธาตุแมกนีเซียม 60-70% ส่วนที่เหลืออีก 30% พบในเนื้อเยื่ออ่อนและของเหลวในร่างกาย
แคลเซียมและแมกนีเซียม ต้องทำหน้าที่ร่วมกันโดยแยกกันไม่ออก แมกนีเซียม ช่วยร่างกายในการดูดซึม แคลเซียม และ แคลเซียม ก็มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อร่างกายในการย่อยสลาย แมกนีเซียม
สรุปง่ายๆคือ แมกนีเซียม จะช่วยให้กระดูกดึงแคลเซียมเข้ามาเก็บสะสมไว้ พบใน ผักใบเขียว รำข้าว ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวกล้อง กล้วยหอม
 
ไลซีน (Lysine)
เป็นกรดอะมิโนที่สำคัญที่จำเป็นสำหรับร่างกายมนุษย์ในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และการเจริญเติบโต ร่างกายเราไม่สามารถผลิต L-Lysine (ไลซีน)ได้ ต้องได้รับจากแหล่งอาหารหรืออาหารเสริมเท่านั้น L-Lysine (ไลซีน) มีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการผลิตแอนติบอดี, ฮอร์โมนและคอลลาเจน ไลซีน (Lysine) ยังเป็นกรดอะมิโนที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟื้นฟู พบใน ยีสต์ ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง แป้งถั่วเหลือง ถั่ว นมไขมันต่ำ เนื้อแดง ปลา ปลาซาร์ดีน ไข่ เนยและนม

โบรอน (Boron)
เป็นแร่ธาตุที่ช่วยไม่ให้กระดูกเสียแคลเซียมมากเกินไป พบใน ผักผลไม้ และถั่วเปลือกแข็ง

แมงกานีส (Manganese)
เป็นองค์ประกอบของกระดูกช่วยไม่ให้กระดูกเสียแคลเซียมมากเกินไป พบใน น้ำผลไม้อย่างน้ำสับปะรด เป็นต้น

วิตามินดี (Vitamin D)
ช่วยให้กระดูกดึงแคลเซียมเข้ามาเก็บสะสมไว้ พบใน น้ำมันตับปลา ปกติแสงแดดหรือรังสีอัลตราไวโอเลตจะช่วยให้ ผิวหนังสร้างวิตามินดีขึ้นได้


พฤติกรรมการกินอาหารบางอย่างสามารถส่งผลเสียต่อกระดูกได้ เช่น

กาแฟ
จากงานวิจัยจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริการะบุว่า กาแฟแค่ 2 ถ้วย ก็มากพอที่จะทำให้กระดูกเปราะบางได้ เนื่องจากคาเฟอีนในกาแฟจะทำให้ร่างกาย ขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ

น้ำอัดลม
ทำให้เกิดภาวะกระดูกหักง่าย โดยผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำจะมีโอกาสเกิดกระดูกพรุนมากกว่า ผู้ที่ไม่ดื่ม 3-4 เท่า



สำหรับผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ความหนาแน่นของกระดูกนอกจากจะไม่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเริ่มลดลงด้วยหากช่วงก่อนหน้านี้ไม่ได้บำรุงกระดูกให้แข็งแรงเต็มที่ ก็อาจทำให้กระดูกเปราะบางและแตกหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพกซึ่งจะเจ็บปวด และทรมานมาก ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน กระดูกจะบางลงราวๆ 2 เปอร์เซ็นต์ทุก 1 ปี ในขณะที่การกินแคลเซียมเมื่ออายุมากขึ้น ไม่ได้ช่วยความเพิ่มความหนาแน่นให้กับกระดูกแต่อย่างใด เพียงแต่ช่วยชะลอการสูญเสียปริมาตรของกระดูกลงเท่านั้น


Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...