Monday, June 20, 2011

ภาวะไขมันในเลือดสูง - Know About High Cholesterol

ภาวะไขมันในเลือดสูง หรือ ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

(Know About High Cholesterol)

โคเลสเตอรอลคืออะไร
โคเลสเตอรอล คือ สารไขมันคล้ายขี้ผึ้งที่ปรากฏอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย โคเลสเตอรอลบางชนิดจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย โดยทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบ ของผนังเซลล์ในร่างกาย และเป็นส่วน-ประกอบสำคัญของฮอร์โมนบางชนิดที่จำเป็นของร่างกาย





ไขมันในเลือด หรือโคเลสเตอรอลมี 3 ชนิด คือ

แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล (LDL) เปรียบเสมือน “ตัวผู้ร้าย” ถ้ามีปริมาณมากจะสะสมอยู่ในหลอดเลือดแดง เป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ยิ่งระดับแอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูงมากเท่าไหร่ อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL) เปรียบเสมือน “ตำรวจ” คอยจับผู้ร้าย เพราะเป็นตัวกำจัดแอล ดี แอล โคเลสเตอรอล ออกจากหลอดเลือดแดง การมีระดับเอช ดี แอล โคเลสเตอรอลสูง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease)

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride หรือ TG) เป็นไขมันอีกประเภทหนึ่งในกระแสเลือด เปรียบเสมือน “ผู้ช่วยผู้ร้าย” คนที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง พร้อมกับระดับเอช ดี แอล โคเลสเตอรอลต่ำ หรือแอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

โคเลสเตอรอลในร่างกายมาจากไหน
ตับของร่างกายเราสร้างขึ้น โดยทั่วไปตับจะทำหน้าที่ สร้างโคเลสเตอรอลได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
อาหารที่รับประทานเข้าไป ถ้ารับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงเป็นนิสัย ก็อาจเกิดโทษต่อสุขภาพได้ จากโคเลสเตอรอลส่วนเกินที่สะสมอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะในหลอดเลือด

อะไรทำให้โคเลสเตอรอลสูง
มาจากพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารไขมันสูง นอกจากนี้เรื่องของกรรมพันธุ์ และโรคเบาหวานยังมีส่วนเกี่ยวข้องอีกด้วย

โคเลสเตอรอลสูงก่อให้เกิดโรคหัวใจได้อย่างไร
ปกติหลอดเลือดจะมีผิวเรียบสม่ำเสมอ แต่เมื่อมี แอล ดี แอล มาจับที่ผนังหลอดเลือดเป็นเวลานานจนกระทั่งพอกตัวหนาขึ้นๆ ก้อนไขมันที่สะสมที่ผนังหลอดเลือดนี้เราเรียกว่า พลัค (plaque) ซึ่งการ-ก่อตัวของพลัคทำให้หลอดเลือดตีบลง ดังนั้นหัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดให้เคลื่อนที่ผ่านไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ ก้อนพลัคนั้นสามารถขวางกั้นระบบไหลเวียนเลือดในหลอดเลือด และยังสามารถปริแตกตัวออกมา ทำให้เกิดลิ่มเลือดแข็งตัวอุดตันบริเวณพลัคนั้น และเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือสมอง จะทำให้อวัยวะส่วนนั้นขาดเลือด เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด หรืออัมพาตจากสมองขาดเลือดได้

โคเลสเตอรอลเท่าไรที่เรียกว่าสูง
วิธีดูว่าใครมีโคเลสเตอรอลสูง ทางการแพทย์จะเทียบกับ ค่าระดับ แอล ดี แอล ซึ่งค่าดังกล่าวขึ้นกับว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเป็นโรคเบาหวาน หรือไม่ถ้ายังไม่เป็นโรคดังกล่าว ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องคำนึงในการจัดระดับแอล ดี แอล มีอยู่ 6 ประการ
  1. อายุ ชายเกิน 45 ปี หญิงเกิน 55 ปี
  2. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร (ชายก่อนอายุ 55 ปี หญิงก่อนอายุ 65 ปี)
  3. ความดันโลหิตสูง
  4. โรคเบาหวาน
  5. สูบบุหรี่
  6. ค่าเอช ดี แอล น้อยกว่า 40 มก.ต่อดล.

ไขมันโคเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอล ดี แอล เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจขาดเลือด และพบว่ามีการศึกษาวิจัย ยืนยันประสิทธิภาพการรักษาด้วยยาลดไขมันโดยเฉพาะยาในกลุ่ม สเตติน (Statins) ว่าหลังได้รับยาแล้วผู้ป่วยไขมันโคเลสเตอรอลสูงที่เป็นโรคหัวใจ มีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมจากโรคหัวใจและโรค หลอดเลือดลดลงมาก

การควบคุมอาหารเต็มที่จะลดระดับโคเลสเตอรอลได้ประมาณร้อยละ 10-15 ซึ่งอาจเพียงพอในผู้ที่มีไขมันสูงบางราย ในขณะที่อาจไม่เพียงพอในผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจที่ควรให้ แอล ดี แอล ต่ำกว่า 100 มก.ต่อดล. ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาจึงขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของระดับไขมันโคเลสเตอรอล และดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตามการรับประทานยาเป็นเพียงการลดโอกาสการเกิดโรค หรือผลแทรกซ้อนทางเลือดเท่านั้น มิได้ป้องกันการเกิดโรค ดังนั้น การรักษาด้วยยาจึงต้องควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย การลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างต่อเนื่อง

แนวทางการป้องกันไขมันและคอเลสเตอรอล
  1. บริโภคอาหารครบ 5 หมู่ และหลีกเลียงอาหารที่มีไขมันคอเลสเตอรอลสูง
  2. ไขมันคอเลสเตอรอลลส่วนใหญ่มาจาก ไขมันจากสัตว์และพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว (น้ำมันพืชชนิดอื่น เช่น รำ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ไม่มีคอเลสเตอรอล) ดังนั้นหลักสำคัญ ของการลดระดับไขมันในเลือดคือการ ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่เราเห็นๆว่ามีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น เนื้อติดมัน หนังเป็ด หนังไก่ ข้างขาหมู ข้าวมันไก่ กะทิ เนย พิซซา เบอร์เกอร์ เป็นต้น คอเลสเตอรอลยังมีมากในเครื่องในสัตว์ สมองสัตว์ ไข่แดงจากไข่ทุกประเภท (แต่ไม่พบในไข่ขาว) อาหาร ทะเลบางชนิด เช่น กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม มันปู
  3. ควบคุมคอเลสเตอรอล, LDL Cholesteral และไตรกลีเซอไรด์ ไม่ให้สูงเกินมาตรฐาน
  4. เพิ่ม HDL Cholesteral ให้สูง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
  5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว การออกกำลังกายยังทำให้ HDL Cholesteral เพิ่มสูงขึ้นด้วย


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องภาวะไขมันในเลือดสูง ได้ที่: http://www.yourhealthyguide.com


Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...